วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เคล็ดลับที่โรงเรียนไม่สอน..ตอน “เจาะลึกลักษณะดัชนีหุ้น”

 

(^____________________________________________^)*

สวัสดีค่ะ เพื่อนๆ ..วันนี้ Sailorty มาพร้อมกับรอยยิ้มสำหรับเพื่อนๆทุกท่านเช่นเคย ^^* ว่าแต่จะลืม Sailorty กันไปรึยังนะ?? และนอกจากวันนี้จะมาพร้อมรอยยิ้มแล้ว  Sailorty ยังนำสาระดีดีเกี่ยวกับการลงทุนใน Stock เบื้องต้นในหัวข้อว่า.. เคล็ดลับที่โรงเรียนไม่สอน..ตอน เจาะลึกลักษณะดัชนีหุ้น โดยมีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

                              ·         เจาะลึกลักษณะหุ้นสามัญ
                              ·         ดัชนีตลาดหลักทรัพย์
                              ·         ปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาหุ้น

ถ้าพร้อมกันแล้วก็อย่ารอช้า!! มาเริ่มเนื้อหาสาระกันเลยดีกว่าค่ะ (^^*)


 
เจาะลึกลักษณะหุ้นสามัญ!!
สิทธิของผู้ถือหุ้นสามัญ
1.       สิทธิในการบริหารจัดการงานของบริษัทผ่านการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เช่น การเลือกตั้งกรรมการบริหาร การเพิ่มทุน การจ่ายเงินปันผล การครอบงำกิจการ เป็นต้น
2.       สิทธิในการได้รับผลตอบแทนจากกำไรของบริษัท เมื่อบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน และต้องการการกระจายกำไรนั้นไปสู่ผู้ถือหุ้น บริษัทจะประกาศจ่ายผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนในรูปของเงินปันผล
3.       ในกรณีที่บริษัทมีการเพิ่มทุนจดทะเบียน ผู้ถือหุ้นเดิมจะได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นใหม่ก่อนผู้ถือหุ้นรายอื่น เพื่อให้สัดส่วนในการถือครองหุ้นของตนเท่าเดิม และเป็นการปกป้องสิทธิของตน ทั้งในเรื่องการออกเสียง และการได้รับผลตอบแทน
4.       ในกรณีที่กิจการล้มละลาย ผู้ถือหุ้นยังมีสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งที่เหลือของกิจการภายหลังการจ่ายภาระผูกพันแก่เจ้าหนี้รายอื่นๆ

ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสามัญ ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ

1.ผลตอบแทนในรูปเงินปันผล
            เป็นผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้โดยตรงในกรณีที่บริษัทมีกำไร ซึ่งผลตอบแทนประเภทนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการทำกำไร กล่าวคือ ในปีใดที่บริษัทมีกำไรมาก ผู้ถือหุ้นอาจจะได้
ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลมากขึ้น แต่ในปีใดที่บริษัทมีกำไรน้อยหรือขาดทุน ผู้ถือหุ้นอาจจะได้เงินปันผลน้อยลงหรือไม่ได้เลยก็ได้

ตัวอย่างเช่น  บริษัท ABC มีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราคงที่ คือ 30% จากกำไรสุทธิ โดยบริษัท ABC มีผู้ถือหุ้นจำนวน 10 ล้านหุ้น

ปี 2548
ปี 2549
กำไรสุทธิ
100 ล้านบาท
120 ล้านบาท
เงินปันผลจ่าย
30 ล้านบาท
36 ล้านบาท
เงินปันผลต่อหุ้น
3 บาทต่อหุ้น
3.6 บาทต่อหุ้น

2.ผลตอบแทนในรูปส่วนต่างราคา                                                                                                     เป็นผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นขายหุ้นสามัญดังกล่าวไปยังบุคคลอื่น
ในราคาที่สูงกว่าตอนที่ตนซื้อมา

ตัวอย่างเช่น นักลงทุน ก. ซื้อหุ้นบริษัท ABC มาในราคา 10 บาท จำนวน 1,000 หุ้น หลังจากถือหุ้นดังกล่าวผ่านไป 1 เดือน ราคาตลาดของหุ้นบริษัท ABC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 11.50 บาท นักลงทุน ก. จึงตัดสินใจขายหุ้นดังกล่าวออกไปทั้งหมด 1,000 หุ้น ทำให้นักลงทุน ก. ได้กำไร 1.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 1,500 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ราคาตลาดของหุ้นบริษัท ABC อาจไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ดังกล่าวก็ได้ ในกรณีที่ราคาตลาดปรับตัวลดลง นักลงทุน ก. ก็มีโอกาส
ขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นบริษัท ABC ได้



ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นสามัญ
        การลงทุนใดๆ ก็ตามย่อมมีความเสี่ยง การลงทุนในหุ้นสามัญก็เช่นเดียวกัน ในหัวข้อก่อนหน้าได้กล่าวถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสามัญ นักลงทุนคงรับรู้ถึงความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เกิดจากการลงทุนแล้ว นั่นก็คือความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตนคาดการณ์ไว้ ในหัวข้อนี้จะสรุปสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ที่ส่งผลให้นักลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ไว้ (ทั้งผลตอบแทนในรูปเงินปันผล หรือในรูปส่วนต่างราคา)
 

 1. ความเสี่ยงทางธุรกิจ เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากลักษณะของธุรกิจนั้นๆ เช่น ประเภทธุรกิจ โครงสร้างรายได้ ค่าใช้จ่ายของกิจการ ทั้งนี้ความเสี่ยงทางธุรกิจเกิดขึ้นจากการที่บริษัทตัดสินใจการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร กล่าวคือถ้ากิจการใดมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือจะทำให้กิจการนั้นมีรายการค่าเสื่อมราคา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมาก ในทางตรงกันข้าม หากกิจการมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรน้อย รายการค่าเสื่อมราคาซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ก็จะน้อยตามไปด้วย ซึ่งการที่กิจการมีต้นทุนคงที่จำนวนมาก เมื่อยอดขายไม่เป็นไปตามที่คาด แต่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงที่เท่าเดิม ก็จะทำให้กำไรของกิจการติดลบอย่างมากในปีที่ยอดขายลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดว่าจะได้รับจากการลงทุนลดลงไปด้วย
2. ความเสี่ยงทางการเงิน เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่กิจการสร้างภาระผูกพันทางการเงินไว้ เช่น การก่อหนี้ ถ้ากิจการใดมีการก่อหนี้จำนวนมาก กิจการนั้นก็จะมีภาระการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมาก หากกิจการไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าที่วางไว้ กำไรของกิจการก็จะไม่เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้ เมื่อกิจการไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยตามภาระผูกพันได้ ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน
        อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรตระหนักไว้เสมอว่าการลงทุนใดๆ ย่อมมีความเสี่ยง และโดยปกติแล้วการลงทุนใดที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนมักขอส่วนชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น นั่นก็คือคาดหวังผลตอบแทนที่ต้องการสูงขึ้นนั่นเอง และการลงทุนใดที่มีความเสี่ยงต่ำย่อมคาดหวังผลตอบแทนทึ่ต้องการต่ำด้วยเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น หากนาย ก. มีทางเลือกในการลงทุน 2 ทางเลือก คือ การฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ที่มั่นคงแห่งหนึ่ง กับให้ ข. ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกู้ยืม ซึ่งในกรณีนี้ หาก ก. ยอมให้ ข. กู้ยืมเงิน ก. ย่อมต้องการผลตอบแทนจากการให้ ข. กู้ยืมมากกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารแน่นอน เนื่องจากโอกาสที่ ก. จะไม่ได้รับเงินต้น และดอกเบี้ยจากการฝากเงินไว้กับธนาคารมีน้อยมาก ในขณะที่การให้ ข. กู้ยืม ก. จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการที่ ข. ไม่ชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ยมากกว่า ดังนั้น หาก ก. ยอมให้ ข. กู้ยืมเงิน ก. ย่อมคิดดอกเบี้ยที่สูงกว่าการที่ตนฝากเงินไว้กับธนาคารแน่นอน ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็คือ ส่วนชดเชยความเสี่ยงที่ ก. เรียกร้องเพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงที่ให้ ข. กู้ยืมนั่นเอง การลงทุนในหุ้นสามัญก็เช่นเดียวกัน เมื่อนักลงทุนเห็นว่าการลงทุนรูปแบบนี้มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทน ตามที่คาดมากกว่าการลงทุนรูปแบบอื่นๆ นักลงทุนย่อมเรียกร้องผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น เป็นไปตามหลักการของ High Risk High Expected Return นั่นเอง




 

*…………………………………………………………………………………………………………*
*…………………………………………………………………………………….*



ดัชนีตลาดหลักทรัพย์!!

ดัชนีราคาหุ้น เป็นเครื่องมือบ่งชี้ระดับราคา และแนวโน้มของตลาดหุ้นโดยรวม โดยดัชนีราคาหุ้นในประเทศไทยที่นิยมใช้ คือ ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ ที่เรารู้จักกันว่า “SET Index” โดย SET Index เป็นการคำนวณระดับราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉลี่ย ณ วัน หรือเวลาใดเวลาหนึ่งเทียบกับวันฐาน คือวันที่ 30 เมษายน 2518 (เป็นวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มเปิดดำเนินการซื้อขาย)
วิธีการคำนวณ SET Index
           SET Index คำนวณจากราคาหุ้นสามัญทุกตัวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนหุ้นที่จดทะเบียน ซึ่งมีสูตรที่ใช้ในการคำนวณเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนควรทราบคือ
 

 

    โดยวิธีการคำนวณมูลค่าตลาดรวมของทุกหลักทรัพย์ (Market Capitalization) เราสามารถคำนวณได้โดย นำราคาหลักทรัพย์แต่ละตัว คูณด้วยจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเราจะทำเช่นนี้กับหุ้นทุกตัวในตลาดและนำค่าที่ได้มาบวกรวมกัน




 
ตัวอย่างการคำนวณ SET Index
30 เมษายน 2518 (วันฐาน)
ราคาหุ้น
จำนวนหุ้น
มูลค่าตลาด
หุ้น ก.
10
1,000,000
10,000,000
หุ้น ข.
12
500,000
6,000,000
หุ้น ค.
15
2,000,000
30,000,000
หุ้น ง.
20
5,000,000
100,000,000
มูลค่าตลาดรวม ณ วันฐาน


146,000,000
30 เมษายน 2549 (วันปัจจุบัน)
ราคาหุ้น
จำนวนหุ้น
มูลค่าตลาด
หุ้น ก.
8
1,000,000
8,000,000
หุ้น ข.
15
500,000
7,500,000
หุ้น ค.
15
2,000,000
30,000,000
หุ้น ง.
25
7,000,000*
175,000,000
มูลค่าตลาดรวม ณ วันปัจจุบัน


220,500,000




SET50 Index และ SET100 Index
       
นอกจาก SET Index ซึ่งคำนวณจากราคาหุ้นสามัญทั้งตลาดแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังจัดทำ SET50 Index เพื่อแสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญจำนวน 50 บริษัท และ SET100 Index เพื่อแสดงระดับ และความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญจำนวน 100 บริษัท โดยหุ้นที่นำมาคำนวณใน SET50 Index และ SET100 Index จะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูง มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง และมีปริมาณหุ้นหมุนเวียนที่ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถเข้าลงทุนได้




ประโยชน์ของ SET Index, SET50 Index และ SET100 Index
        Index ในตลาดหลักทรัพย์ก็คือดัชนีราคาประเภทหนึ่ง ซึ่งประโยชน์ก็จะเหมือนกับดัชนีอื่นๆ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค ที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงในราคาสินค้า ในกรณีของดัชนีราคาหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น SET Index, SET50 Index หรือ SET100 Index การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของค่าดัชนี ก็จะบอกถึงการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ที่อยู่ในดัชนีนั้นๆ นักลงทุนจึงสามารถใช้ Index เหล่านี้ในการวัดผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณ Index นั้นได้ รวมถึงถ้าสนใจลงทุนในบริษัทขนาดกลางก็สามารถเข้าดูรายชื่อของบริษัทใน SET100 เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าลงทุนได้
ดัชนีราคากลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจ
        นอกจากดัชนี SET Index ที่คำนวณจากหุ้นสามัญทั้งหมดบนกระดานหลัก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีการคำนวณดัชนีราคาหุ้น โดยแบ่งตามการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจของบริษัท
จดทะเบียน เพื่อช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในรายละเอียดมากขึ้น ดังนี้


            ดัชนีราคารายกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group Index)

            เป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ที่ใช้สะท้อนการเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์ที่อยู่ใน ภาคอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมีหลักการคำนวณเช่นเดียวกันกับการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย กล่าวคือใช้การคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight) โดยมีวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เป็นวันฐาน คำนวณโดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนทุกตัวในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม โดยไม่นำหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เกิน 1 ปีมารวมในการคำนวณ ทั้งนี้จะมีการปรับฐานการคำนวณดัชนีเช่นเดียวกันกับดัชนีราคา SET Index รวมทั้งเมื่อมีหลักทรัพย์ย้ายกลุ่มอุตสาหกรรม


           
ดัชนีราคารายหมวดธุรกิจ (Sectoral Index)
            เป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ที่ใช้สะท้อนการเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์ที่มีพื้น ฐาน (Fundamental) เดียวกัน โดยมีหลักการคำนวณเช่นเดียวกันกับการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย กล่าวคือใช้การคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight) คำนวณโดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนทุกตัวในแต่ละหมวดธุรกิจ และไม่นำหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เกิน 1 ปีมารวมในการคำนวณ ทั้งนี้ จะมีการปรับฐานการคำนวณดัชนี
เช่นเดียวกันกับดัชนีราคา SET Index




 
*…………………………………………………………………………………………………………*
*…………………………………………………………………………………….*


ปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาหุ้น!!
นักลงทุนที่เพิ่งเริ่มรู้จักกับการ ลงทุนในหุ้นสามัญอาจสงสัย และมีคำถามในใจ ว่าวันนี้หุ้นที่ตนถือไว้จะเพิ่มขึ้น หรือจะลดลง”, “ราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงเกิดจากอะไรหรือ เราจะสามารถคาดการณ์ หรือรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นได้หรือไม่การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ นักลงทุนต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาหุ้น หรือปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับราคาหุ้นนั่นเอง
        แนวคิดหนึ่งที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถตอบคำถามดังกล่าว และช่วยให้นักลงทุนเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาหุ้น คือการใช้แนวความคิด การหามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของหุ้นสามัญ
การหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามัญ คืออะไร?                                                                          แนวความคิดการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามัญ เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า ..นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นสามัญวันนี้ย่อมคาดหวังผลประโยชน์ หรือผลตอบแทนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการลงทุนในหุ้นสามัญดังกล่าว ดังนั้น ราคาหุ้นที่นักลงทุนยอมจ่ายในวันนี้จึงเป็นราคาสำหรับสิ่งที่ตนคาดหวังว่าจะได้รับในอนาคตนั่นเอง
        จากแนวคิดดังกล่าวทำให้เราทราบได้ว่า ราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปจึงน่าจะเกิดจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า สิ่งที่ตนจะได้รับในอนาคตทั้งในรูปของเงินปันผล และส่วนต่างราคาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ถ้ามีผู้คาดการณ์ว่า ..การลงทุนในหุ้นสามัญ ABC จะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลมากขึ้น
ก็จะทำให้บุคคลนั้นยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้น ABC ในราคาที่สูงขึ้น ราคาหุ้น ABC ก็จะปรับตัวสูงขึ้น

ในทางกลับกัน ถ้านักลงทุนคนหนึ่งคาดการณ์ว่าหากลงทุนในหุ้น ABC ณ ปัจจุบัน โดยถือไปอีก 2 – 3 เดือน แล้วขายต่ออาจจะได้ราคาขายต่อน้อยกว่าตอนที่ตนซื้อมา นักลงทุนคนนั้นก็จะไม่ยอมจ่ายเพื่อซื้อหุ้น ABC ณ ราคาปัจจุบัน แต่จะยอมจ่ายในราคาที่ต่ำกว่าเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่คาดว่าตนอาจจะเผชิญในอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้น ABC ก็จะปรับตัวลดลง
จากตัวอย่างข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า
ราคาหุ้น ณ เวลาปัจจุบัน น่าจะถูกกำหนดมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ
1.ผลตอบแทนที่ตนคาดว่าจะได้รับทั้งในรูปของเงินปันผล และส่วนต่างราคา
2.ความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องเผชิญจากการลงทุนในหุ้นสามัญ


ตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดว่าจะได้รับกับความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องเผชิญ   นักลงทุนบางคนอาจมีคำถามต่อว่า แล้วผลตอบแทนที่ตนคาดว่าจะได้รับทั้งในรูปของเงินปันผล และส่วนต่างราคา กับความเสี่ยงที่ตนจะต้องเผชิญจากการลงทุนในหุ้นสามัญนั้นเกิดจากปัจจัยใด ในหัวข้อนี้ขอสรุปตัวแปรหลัก 3 ประการที่เป็นตัวกำหนด ผลตอบแทน และความเสี่ยง ดังต่อไปนี้
            1. ตัวแปรทางเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี หุ้นที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ดีจะมีราคาเพิ่มขึ้น เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจดี ประชาชนจะกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น กำไรก็เพิ่มขึ้นตามมา และท้ายที่สุดเมื่อบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น บริษัทก็จะสามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนได้มากขึ้นตามไปด้วย
2. ตัวแปรอุตสาหกรรม ถ้าอุตสาหกรรมใดอยู่ในช่วงขาขึ้น ราคาหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทในอุตสาหกรรมนั้นจะปรับ เพิ่มขึ้นตามภาวะอุตสาหกรรม ในทางตรงกันข้ามถ้าอุตสาหกรรมใดอยู่ในช่วงขาลง ราคาหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นก็จะมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลถึงความเสี่ยงจึงขายหุ้นในอุตสาหกรรมดังกล่าวออกมา
3. ตัวแปรผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ เป็น ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นโดยตรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ กลยุทธ์ของบริษัท และความสามารถของผู้บริหาร กล่าวคือ ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมไม่ดี หากผู้บริหารของบริษัทมีความสามารถสูง ก็อาจจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทลดลงไม่มาก และราคาหุ้นก็จะปรับตัวลดลงไม่มาก




ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก TSI 
"อย่ากลัวที่จะก้าวไปช้าๆ จงกลัวที่จะอยู่นิ่งเฉย"
Do not be afraid of going slowly, be afraid only of standing still. ภาษิตจีน


*……………………………………………………………………………………………………….*
*……………….ขอให้วันนี้เป็นวันที่ดีสำหรับ Sailorty และเพื่อนๆทุกท่าน……………….*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น