วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เคล็ดลับที่โรงเรียนไม่สอน..ตอน "อ่านฉลาก ก่อนลงทุนในหุ้น "

"อ่านฉลาก ก่อนลงทุน"




การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน ประโยคที่มักติดสอยห้อยตามมาด้วยเสมอ เมื่อมีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม แต่ด้วยเวลาที่จำกัดและค่าโฆษณาอันแสนแพง ประโยคนี้จึงมักถูกกล่าวไปอย่างรวดเร็วราวกับคำเตือนบนขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
             การตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนรวมประเภทใดสักกอง นอกจากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ผู้ขายหน่วยลงทุนแล้ว เชื่อว่ามีหลายท่านที่ตัดสินใจลงทุน เพราะโปรแกรมส่งเสริมการขายที่มักถูกนำมาใช้เป็นแม่เหล็กเพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะในช่วงปลายปีหรือช่วงที่มีมหกรรมการเงินต่างๆ สถาบันการเงินต่างก็ประชันโปรโมชั่นกันอย่างครึกโครม อันที่จริงนอกจากแรงเชียร์ของพนักงานหรือสิ่งเร้าเหล่านั้นแล้ว การศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนก็ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีให้กับผู้ลงทุนได้นำมาพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน ค่ะ
            เหมือนกับก่อนที่จะใช้ยารักษาโรค เราก็ควรต้องอ่านฉลากเสียก่อนเพื่อให้ทราบถึงสรรพคุณของยานั้นว่าเป็นยาสำหรับใช้ภายนอกหรือสามารถรับประทานได้รวมไปถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้อง ในเชิงการลงทุนก็คล้ายคลึงกัน กองทุนรวมมีหนังสือชี้ชวนเป็นเสมือนฉลากที่สาธยายสรรพคุณของกองทุนรวมว่าลงทุนในอะไร มีความเสี่ยงระดับใด รวมทั้งมีวิธีการซื้อขายอย่างไร ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดให้ทุกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนและต้องเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนทราบหรือแจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุน (เมื่อถูกร้องขอ) ทุกครั้งที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุน อย่างไรก็ตาม จำนวนคนที่อ่านฉลากข้างขวดยาน้อยเพียงใด เชื่อได้ว่าจำนวนคนที่อ่านฉลากข้างกล่อง (หนังสือชี้ชวน) กองทุนรวมนี้อย่างจริงจังก็น้อยเพียงนั้น
               หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุน ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ และส่วนข้อมูลโครงการ สำหรับส่วนสรุปข้อมูลสำคัญจะเน้นข้อมูลที่กระชับ อ่านง่ายและได้ใจความ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่กองทุนรวมต้องเปิดเผย ได้แก่
·         ลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม (Key Feature) และนโยบายการลงทุน ช่วยให้ทราบว่าเป็นกองทุนรวมประเภทใด มีกำหนดอายุโครงการหรือไม่ จำนวนเงินทุนของโครงการ รวมถึงบอกให้ทราบว่ากองทุนจะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปลงทุนในทรัพย์สินใดบ้าง ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับความต้องการลงทุนได้
·         ข้อมูลเกี่ยวกับเงินลงทุนของผู้ลงทุน ซึ่งแสดงในลักษณะคำถามคำตอบ ช่วยให้ทราบถึงรูปแบบผลตอบแทนที่จะได้รับ ตัวชี้วัดที่เหมาะสม (Benchmark) รวมไปถึงวิธีการลงทุนผ่านช่องทางต่างๆ
·         ความเสี่ยงในการลงทุน ของกองทุนนั้นๆ มีอะไรบ้าง เช่น ความเสี่ยงจากตลาด (Market Risk) การดำเนินงานของผู้ออกตราสาร (Business Risk) หรือสภาพคล่องของตราสารที่กองทุนลงทุน (Liquidity Risk) ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Rate Risk) หรือความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น
·         ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนรวม บอกว่าค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมมีอะไรบ้าง อัตราเท่าไร ค่าใช้จ่ายแบ่งเป็น 2 ประเภท ประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บโดยตรงจากผู้ซื้อหรือผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น ค่าธรรมเนียมในการซื้อหรือขายหน่วยลงทุน เป็นต้น และค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน ค่าตรวจสอบบัญชี หรือค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายประเภทใด ต่างก็นับเป็นต้นทุนในการลงทุน ย่อมส่งผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุนทั้งสิ้น จึงอาจบอกได้ว่า ยิ่งกองทุนมีค่าใช้จ่ายต่ำ ยิ่งเป็นผลดีต่อผลการดำเนินงาน
·         คำเตือนและข้อแนะนำ อาทิเช่น การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกก็ได้ หรือ ผู้สนใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจก่อนซื้อหน่วยลงทุน และเก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อใช้อ้างอิงในอนาคต หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถขอรับหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการได้ที่บริษัทจัดการหรือผู้ขายหน่วยลงทุน เป็นต้น
·         วันเดือนปีที่รวบรวมข้อมูลไว้ในหนังสือชี้ชวน เพื่อดูว่าหนังสือชี้ชวนฉบับนั้นจัดทำขึ้นล่าสุดเมื่อไร โดยปกติ ก.ล.ต. จะกำหนดให้กองทุนต้องจัดทำและปรับปรุงข้อมูลในหนังสือชี้ชวนปีละ 1 ครั้ง
              สำหรับหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการนั้น มีข้อมูลที่ชี้แจงรายละเอียดและขยายความเพิ่มเติมจากส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ รวมถึงมีคำจำกัดความต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักลงทุนมากที่สุด เช่น สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทจัดการ ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน วิธีการคำนวณราคาหน่วยลงทุน สิทธิประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน วิธีการแก้ไขโครงการและการเลิกโครงการ เป็นต้น
           ด้านผู้ที่ต้องการข้อมูลกองทุนอย่างย่อสำหรับกองทุนรวมที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว อาจเลือกศึกษาจากเอกสารข้อมูลสำคัญการลงทุน (Fund Fact Sheet) ซึ่งมักรวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกองทุนโดยเฉพาะ โดยทั่วไปจะมีรายละเอียดไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ ซึ่งช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนได้โดยใช้เวลาไม่นานมาก



ออมด้วยหุ้น..
“The best way to own common stocks is through index funds... Additionally, those index funds that are very low-cost (are investor-friendly by definition and are the best selection for most of those who wish to own equities” - Warren Buffett -  
             ในรอบสองปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นแรงติดต่อกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างหาได้ยาก หลายคนประสบความสำเร็จจากการลงทุน แต่ถึงแม้ภาวะตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเช่นนี้ บางคนก็ยังได้ผลตอบแทนไม่ค่อยดีหรือยังได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่นั่นเอง
การที่มีหลายคนประสบความสำเร็จจากการลงทุน  เป็นตัวอย่างให้หลายคนอยากประสบความสำเร็จตามบ้าง โดยมักมีความคิดที่ว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องง่าย แค่ซื้อถูกและขายให้แพงกว่าเท่านั้นก็จะได้ผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำแล้ว ถึงกับชวนเพื่อนชวนญาติชวนคนรู้จักให้มาลงทุน โดยคิดว่าน่าจะทำกำไรได้ง่ายๆ
แนวคิดนี้ชวนทุกคนมา รวยด้วยหุ้นนี้ก็คล้าย ๆ กับการขายฝัน สอนให้คนหวังรวยทางลัดเหมือนอีเมล์สแปม (spam) ที่ส่งมาบอกว่าทำงานที่บ้านก็ได้เดือนละแสนแล้วอย่างไรอย่างนั้น เพราะจริง ๆ แล้ว คนที่จะประสบความสำเร็จจากการลงทุนในหุ้นนั้นมีน้อย คนที่จะสามารถรวยด้วยหุ้นนั้นก็ไม่ต่างจากการประสบความสำเร็จในอาชีพอื่น ๆ ทั่วไป  คือเป็นคนที่ยินดีอุทิศเวลาทุ่มเทให้ตลาดทุนเท่านั้น
Livermore พูดถูกที่บอกว่า หุ้น คืออาชีพอย่างหนึ่ง คนที่จะประสบความสำเร็จก็คือคนที่จริงจังกับมันเหมือนอาชีพอื่น ๆ ตลาดหุ้นสอนให้เรารู้เราภาวะเศรษฐกิจแย่ไม่เคยทำร้ายนักลงทุน เพราะบ่อยครั้งในภาวะเศรษฐกิจดี นักลงทุนก็ยังขาดทุน
มีแต่นักลงทุนนั้นแหละที่มักทำร้ายตัวการซื้อ ๆ ขาย ๆ เก็งกำไรไปวัน ๆ อยากรวยแบบง่าย ๆ บางคนใช้วิธีเลือกหุ้นตามกูรูตามนักวิเคราะห์ บางทีวิธีการของกูรูเหล่านั้นถึงรู้ไปก็ทำตามแบบอย่างไม่ได้ เพราะเราไม่มีบางสิ่งบางอย่างที่เขามี จริง ๆ แล้วการลงทุนที่ถูกต้องหากเราไม่มีเวลา ไม่สามารถทุ่มเทให้กับมันได้เต็มที่ อยากแนะนำให้เปลี่ยนแนวคิดมาเป็น ออมด้วยหุ้น มากกว่าแนวคิดรวยด้วยหุ้นโดยมองว่าหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีและเราต้องทยอยออมมันไปเรื่อยๆ
ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ดูเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์มีการปรับตัวอย่างรุนแรงนั้น นักลงทุนมักจะมีปัญหาในการจัดการความเสี่ยงเวลาปรับตัวลง บางคนถึงกับกลัวจนไม่กล้าที่จะลงทุน หรือพอบางทีเหตุการณ์เหล่านั้นผ่านไปก็จะพบว่า ความกังวลของนักลงทุนหลายครั้งก็เกินกว่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น แต่ส่วนที่เลวร้ายจริงๆนั้น ส่วนใหญ่จะโผล่มาแบบไม่เคยมีใครคาดการณ์ไว้ก่อน เช่น เหตุการณ์สินามิ หรือแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ
แนวทางในการลงทุนที่ถูกต้องนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยง และหลีกเลี่ยงการที่จะต้องลงทุนแบบซื้อ ๆ ขาย ๆ คำแนะนำของ Peter Lynch ที่เป็นอดีตผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของอเมริกา บอกให้ทุกคนกระจายความเสี่ยงโดยที่ให้ทุกคนเลือกหุ้นตัวที่ดีที่สุดด้วยตัวเองประมาณ 5 ตัว อย่าถือกระจายมากกว่านี้ แล้วถือไว้ในนานๆ  คำแนะนำนี้เป็นข้อคิดที่ดีมาก เนื่องจากในความเป็นจริงนั้น การคาดการณ์อนาคตเป็นเรื่องยาก การซื้อไว้สักห้าตัวแล้วถือไว้เฉยๆ บางทีกลับจะได้ผลดีอย่างไม่น่าเชื่อและไม่เหนื่อยมากด้วย ในห้าตัวนี้ก็มักจะมีตัวนึงวิ่งให้ดีใจได้ทุกปี  และถ้าเลือกหุ้นได้ดีมาก ผลตอบแทนตัวที่ดีจะดึงค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนรวมให้สูงขึ้นไปด้วย โดยที่ไม่ต้องรู้อะไรก่อนคนอื่นเลย ถ้าเราคิดว่าเราไม่มีความสามารถเหมือนเซียนหุ้น การลงทุนตามคำสอนของ Peter Lynch ก็เป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับคนทั่ว ๆ ไป
Peter Lynch ไม่ได้บอกว่าห้ามขาย แต่การบอกว่าให้ถือให้ได้นาน ๆ นี้มีความหมาย เพราะถ้าคนเราตั้งใจเสมอว่าจะถือให้นาน ๆ เราจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจากการขายเร็วเกินไปได้หลายครั้งเลยทีเดียว เป็นการสกัดจุดอ่อนของนักลงทุนราย่อยทั่วไป หรือการเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีมืออาชีพคอยกระจายความเสี่ยงให้อยู่แล้ว เหลือแต่หน้าที่ทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมออันเป็นการตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไป ก็เป็นแนวทางที่ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง และไม่ต้องมาเหนื่อยกับการซื้อ ๆ ขาย ๆ อีกด้วย                                        

มือใหม่หัดลงทุนในหุ้น..
จะเริ่มต้นอย่างไรดี บทความฉบับนี้จะแนะนำแนวทางต่างๆ สำหรับลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กันค่ะ
            เริ่มลงทุนง่ายๆ ผ่านกองทุนหุ้น หากคุณไม่เคยลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อน และไม่รู้จักหุ้นรายตัวในตลาด การเริ่มต้นลงทุนในกองทุนหุ้นเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับคุณ เนื่องจากกองทุนหุ้นจะถูกบริหารโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนซึ่งสามารถเลือกลงทุนในหุ้นรายตัวพื้นฐานดีแทนคุณได้ นอกจากนี้ การลงทุนในกองทุนหุ้นจะช่วยให้คุณฝึกการติดตามสภาวะตลาด และเรียนรู้ความผันผวนที่เกิดจากการลงทุนในตลาดหุ้น แม้ว่าตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่สูงในปี 2553 ที่ผ่านมา แต่การปรับตัวลงอย่างแรงของดัชนีหุ้นถึง 4% หรือ 42 จุด จาก 1,006.57 เป็น 963.68 จุด ภายในวันเดียว เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา คงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเสี่ยงที่มีอยู่ในระดับสูงของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ ส่วนกองทุนไหนที่น่าลงทุนนั้น คุณสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนต่างๆ ได้จาก www.aimc.or.th
            ลงทุนผ่านตลาดหุ้นด้วยตัวเอง หากคุณรู้จักหุ้นหรือกิจการใดเป็นอย่างดี และต้องการลงทุนในหุ้นตัวนั้น คุณเหมาะกับการลงทุนในตลาดหุ้นด้วยตัวเองค่ะ การซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์สามารถทำได้ผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด และ Internet ซึ่งมีความแตกต่างในหลายแง่มุม ดังนี้
            ซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดหรือ Marketing คุณสามารถส่งคำสั่งซื้อขายทางโทรศัพท์หรือที่ห้องค้าหลักทรัพย์ และขอคำแนะนำในการซื้อขายหุ้นจากเจ้าหน้าที่ได้ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการเกิดข้อผิดพลาดจากการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตนเองทาง Internet คุณไม่ควรมีการซื้อขายเก็งกำไรบ่อยครั้ง เพราะคุณจะได้รับกำไรน้อยลง เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่สูง ยกตัวอย่าง หากคุณสั่งซื้อหุ้นมูลค่า 100,000 บาท ค่าธรรมเนียม (Commission และ Vat) ที่คุณจะต้องจ่ายในการซื้อคือ (100,000 x 0.25%)+(100,000 x 0.25% x 7%) = 267.50 บาท และหากคุณขายหุ้นในมูลค่า 100,000 บาท คุณจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอีก  267.50 บาท รวมเป็นเงิน 535 บาท การซื้อขายบ่อยครั้งไม่เพียงแต่ทำให้คุณต้องเสียค่าธรรมเนียมมากขึ้น ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเล่นหุ้นของคุณอีกด้วย
            ซื้อขายผ่าน Internet วิธีนี้เหมาะกับคนที่พอจะมีประสบการณ์ในตลาดหุ้น เนื่องจากจะมีความชำนาญในการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นมาบ้าง และต้องการคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่การตลาดไม่มากนัก ข้อดีของการซื้อขายผ่าน Internet คือความสะดวกในการซื้อขาย เนื่องจากนักลงทุนสามารถซื้อขายได้รวดเร็วผ่าน Computer หรือ Program ในโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งค่าธรรมเนียมยังถูกกว่าการซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดด้วยค่ะ
            สำหรับผู้ที่เลือกลงทุนในตลาดหุ้นด้วยตนเองอาจเกิดความสับสนในความแตกต่างของบัญชีซื้อขายประเภทต่างๆ ได้แก่ Cash Account, Cash Balance Account และ Margin Account ในส่วนนี้จะขอสรุปความหมายของบัญชีทั้ง 3 ประเภท ดังนี้ค่ะ
                               Cash Account คือบัญชีซื้อขายหุ้นที่คุณสามารถสั่งซื้อหุ้นเท่ากับวงเงินที่คุณได้รับ ซึ่งวงเงินจะขึ้นอยู่กับ Statement ที่คุณแสดงไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่คุณทำการเปิดบัญชี ได้แก่ เงินฝากธนาคาร และกองทุนรวม เป็นต้น จุดเด่นของบัญชีประเภทนี้คือ การชำระเงินค่าซื้อซึ่งคุณไม่ต้องชำระเงินโดยทันที ทางบริษัทหลักทรัพย์จะตัดเงินค่าซื้อจากบัญชีธนาคารที่คุณแจ้งไว้ในวันทำการที่ 3 จากวันที่คุณสั่งซื้อหุ้น (T+3) เช่น คุณซื้อหุ้นวันที่ 10 มีนาคม 2554 เงินจะถูกตัดบัญชีในวันที่ 15 มีนาคม 2554  ในทางกลับกัน คุณจะได้รับเงินจากการขายหุ้นในวันทำการที่ 3 จากวันที่คุณสั่งขายด้วยเช่นกัน
                               Cash Balance Account คือบัญชีซื้อขายหุ้นที่คุณต้องฝากเงินไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่คุณเปิดบัญชีไว้ หากคุณสั่งซื้อหุ้น เงินจะถูกหักออกจากบัญชีนั้น ดังนั้น ก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย คุณต้องตรวจสอบว่าคุณมีเงินในบัญชีที่เพียงพอสำหรับชำระค่าซื้อหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เงินที่คุณฝากไว้ในบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และการซื้อขายผ่านบัญชีประเภทนี้จะมีการคิดค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าบัญชีประเภท Cash Account เมื่อส่งคำสั่งซื้อขายผ่าน Internet
                               Margin Account เป็นการกู้ยืมเงินจากบริษัทหลักทรัพย์เพื่อซื้อขายหุ้น โดยใช้เงินสดหรือหุ้นที่ลูกค้ามีเป็นหลักประกัน ทำให้เงินก้อนเดิมมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น หากหุ้นที่คุณซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้น (เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในบัญชี Cash Account และ Cash Balance Account) ทั้งนี้ ทางบริษัทจะมีการคิดดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินด้วย วงเงินที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของหลักประกันและตัวหุ้นที่ใช้เป็นหลักประกันซึ่งแต่ละตัวมีอัตรา Margin ที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากมูลค่าหุ้นที่ใช้เป็นหลักประกันปรับตัวลง ทางบริษัทจะแจ้งให้ลูกค้านำหลักประกันมาวางเพิ่ม หากไม่สามารถทำได้ หุ้นที่ลูกค้าใช้เงินที่กู้ยืมซื้อมาจะถูกบังคับขาย ทำให้มีโอกาสขาดทุนได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าเงินลงทุน ณ วันที่ 3 มกราคม (หลักประกันและหุ้นที่ซื้อเข้ามาโดยการกู้ยืม) มีมูลค่า 100,000 บาท ต่อมาในวันที่ 24 มกราคม ซึ่งตลาดหุ้นมีการปรับตัวลงมาอย่างรุนแรง ทำให้มูลค่าของเงินลงทุนลดลงมาเหลือ 34,000 บาท จะเข้าเกณฑ์ที่จะต้องถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์กำหนดเกณฑ์ไว้ว่า หากมูลค่าเงินลงทุนลดลงต่ำกว่า 35% ของมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น คุณจะถูกทางบริษัทหลักทรัพย์เรียกหลักประกันเพิ่ม แต่หากคุณไม่สามารถนำเงินมาเพิ่มหลักประกัน และมูลค่าเงินลงทุนลดลงมาต่ำกว่า 25,000 บาท (25% ของเงินลงทุน) คุณจะถูกบังคับขายหุ้นที่มีโดยทันที
สรุปแล้ว หากท่านเป็นมือใหม่หัดลงทุน ขอแนะนำให้สมัครบัญชีแบบ Cash Account หรือ Cash Balance Account ดีกว่าค่ะ โดยบัญชีแบบ Cash Account จะสะดวกในการซื้อขายมากกว่า แต่จะต้องเตรียม Statement ให้เพียงพอกับที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดไว้ด้วยนะคะ เช่นบริษัทหลักทรัพย์ ABC กำหนด Statement ขั้นต่ำที่ 100,000 บาท ดังนั้นคุณควรนำบัญชีเงินฝากที่มียอดเงินอย่างน้อย 100,000 บาท ไปแสดงกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อพิจารณาในการเปิดบัญชีด้วยค่ะ ส่วน Margin Account นั้น ค่อนข้างเหมาะกับมือโปรที่มีประสบการณ์สูงค่ะ ทั้งนี้ เงื่อนไขการเปิดบัญชีและค่าธรรมเนียมในการซื้อขายจะแตกต่างกันในแต่ละบริษัทหลักทรัพย์ ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติมก่อนเปิดบัญชีด้วย 
สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่าการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ และควรแบ่งเงินส่วนน้อยมาลองลงทุนดูก่อน เมื่อคุณมีประสบการณ์และความมั่นใจมากขึ้น จึงค่อยทยอยเพิ่มเงินลงทุน ขอให้โชคดีกับการลงทุนค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น