วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เคล็ดลับที่โรงเรียนไม่สอน..ตอน "เริ่มต้นการลงทุน"

 วันนี้ขอเริ่มเรื่องการลงทุนเบื้องต้นก่อนเลยแล้วกัน ^^* แต่ขอยกเครดิตให้แก่ k-weplan น๊ะค่ะ
((ในเมื่อมีสูตรสำเร็จ บางครั้งเราก็ไม่ควรทำให้มันซับซ้อนจริงไมล่ะ?? คิดเยอะๆๆปวดหัว ฮ่าๆๆ))

เริ่มต้นลงทุน..
     ภาวะปัจจุบันที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเก็บออมกับธนาคารเพียงอย่างเดียวอาจได้รับผลตอบแทนไม่เพียงพอที่จะชดเชยค่าครองชีพที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น สาเหตุเกิดจากอัตราเงินเฟ้อทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นเราควรเริ่มมองหาวิธีที่จะช่วยให้เงินออมที่เก็บไว้งอกเงยขึ้นผ่านการลงทุน เพื่อชดเชยอำนาจซื้อที่อาจสูญหายในอนาคต กรณีที่สินค้าและราคาข้าวของแพงขึ้นกว่าเดิม

    การลงทุนทำได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะลงทุนทางตรง เช่น เปิดร้านอาหาร ซื้อที่ดิน ซื้อทองคำ หรือลงทุนทางอ้อม เช่น ลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สถาบันการเงินเสนอขาย การลงทุนทางตรงจะต้องอาศัยเงินทุนสูง รวมถึงประสบการณ์ทางธุรกิจ เช่น อำนาจการต่อรองทางการค้า และเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจกรณีเป็นเจ้าของกิจการ  ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ยากสำหรับผู้ที่ไม่รู้ลึกในธุรกิจนั้นอย่างแท้จริง แต่สำหรับการลงทุนทางอ้อมในผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้น สามารถเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนที่ต่ำกว่า มีสภาพคล่องสูงเนื่องจากมีตลาดรองรับสามารถขายคืนได้ทันที และไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ทางธุรกิจ เพียงแต่เข้าใจถึงนโยบายการลงทุนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่า เรากำลังลงทุนในอะไร มีความเสี่ยงต่ำหรือสูง และมีเงื่อนไขหรือปัจจัยสำคัญอะไรที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน

เช็คความพร้อมด้านการเงิน ก่อนเริ่มลงทุน..
             ถ้าชีวิตเราเหมือนการเดินทาง แน่นอนถ้าจะเดินทางไกลหากเราไม่ตรวจเช็คเครื่องอย่างสม่ำเสมอ แล้วเกิดยางแตก หรือหม้อน้ำรั่วอาจทำให้ไปไม่ถึงจุดหมาย หรือไปถึงได้ล่าช้าลง ชีวิตก็เหมือนการเดินทาง ต้องมีการตรวจเช็คความพร้อมทางด้านการเงินก่อน
             ขั้นแรก ของการเช็คความพร้อมก่อนเริ่มลงทุน เราควรมีเงินเก็บสำรองอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อสำรองไว้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินในอนาคต สำหรับผู้ที่มีภาระผ่อนหนี้สิน หรือภาระดูแลบุตร บิดามารดา แนะนำให้สำรองเงินดังกล่าวมากกว่าผู้ที่ไม่มีภาระใดๆ เงินสำรองฉุกเฉินก้อนนี้ควรเก็บไว้ในบัญชีที่มีความเสี่ยงต่ำ พร้อมสำหรับการใช้จ่ายได้ทันที เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือบัญชีกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น
 ขั้นที่สอง ตรวจเช็คภาระหนี้สินที่มีอยู่ของตัวคุณ ว่ามีต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยที่สูงหรือต่ำกว่าการลงทุนที่คุณกำลังเลือก เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนอาจไม่คุ้มค่ากับดอกเบี้ยที่จ่ายไป กล่าวคือการนำเงินไปชำระหนี้อาจสร้างประโยชน์มากกว่าการนำเงินไปซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น การนำเงินโบนัสจำนวน 100,000 บาท มาชำระหนี้จำนองบ้านกับธนาคารพาณิชย์ซึ่งเสียดอกเบี้ยในอัตรา 7% ต่อปี ย่อมคุ้มค่ากว่าการนำเงินจำนวนเดียวกันมาลงทุนในหุ้นกู้ที่ให้ดอกเบี้ย 3.60%ต่อปี เป็นต้น
 ขั้นสุดท้าย ตรวจเช็คระดับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเราเองว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยเลือกนำเงินไปลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยง ซึ่งระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านได้แก่ อายุ สุขภาพ ความรู้และประสบการณ์ สถานะ ภาระหนี้ และความมั่งคั่งที่มี
 การตรวจเช็คความพร้อมทางการเงิน ก่อนเริ่มต้นลงทุน มีส่วนช่วยให้คุณกำหนดเป้าหมายการลงทุนได้ชัดเจนขึ้น และช่วยให้การจัดสรรเงินลงทุนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ

รู้จักผลตอบแทนและความเสี่ยงในการลงทุน..
            นอกจากการฝากเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยคงที่แล้ว การลงทุนนั้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่คาดหวังดีกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าเช่นกัน สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนจะประกอบไปด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือ กระแสเงินสด หรือรายได้รับระหว่างช่วงลงทุน ซึ่งอาจอยู่ในรูปเงินปันผลหรือดอกเบี้ย ส่วนที่สองคือกำไรจากการขายหลักทรัพย์ในราคาที่สูงขึ้น (หรือต่ำลง) กว่าราคาที่ซื้อ หรือเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์
สำหรับความเสี่ยงจากการลงทุนนั้น หมายถึง โอกาสที่ผลตอบแทนที่จะได้รับเบี่ยงเบนไปจากอัตราผลตอบแทนที่ได้คาดหวังไว้ โดยความเสี่ยงเกิดจากปัจจัยหลายด้าน เช่น เกิดจากการที่ผู้ออกตราสารผิดนัดชำระหนี้ (Credit risk), เกิดจากสภาวะตลาด (Market risk) หรือเกิดจากสภาพคล่องสำหรับใช้จ่าย (Liquidity) ทำให้มูลค่าการลงทุนของเราผันผวน เป็นต้น
โดยทั่วไป นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาลงทุน มักมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทน และความเสี่ยง โดยต้องการเพียงผลตอบแทนจากการลงทุนสูงสุด ทำให้การลงทุนของตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน รับมือกับสภาวะขาดทุนในระยะสั้นที่เกิดขึ้นไม่ได้ เกิดความกังวล จนกลัวต่อผลขาดทุน ดังนั้นก่อนเริ่มต้นลงทุน คุณควรประเมินระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ หลังจากนั้นจึงเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่รับได้ของคุณ และศึกษาข้อมูลการลงทุนประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น
หากไม่ได้ประเมินความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน อาจทำให้ลงทุนผิดพลาดได้ เช่น ต้องการเก็บเงินลงทุนไว้สำหรับการหมั้นสาวในอีก 6 เดือน แต่กลับนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อหุ้นเก็งกำไรซึ่งมีโอกาสได้รับกำไรหรือขาดทุนสูง เงินที่ลงทุนอาจคงเหลือไม่เพียงพอสำหรับสินสอดก็ได้  แต่ถ้าหากคุณนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาลงทุน 6 เดือน ซึ่งมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า เมื่อครบกำหนดเวลาในการลงทุน ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นพร้อมผลตอบแทนตามที่ตกลง ทำให้คุณเตรียมเงินไว้พร้อมตามเป้าหมายที่ตั้งใจ หรือกรณีนักลงทุนสูงอายุที่มีเงินก้อนสุดท้าย และต้องการรายได้ที่แน่นอน การลงทุนในหุ้นกู้ และพันธบัตรรัฐบาลจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการนำเงินไปซื้อหุ้นสามัญบริษัทเติบโตที่ไม่มีการจ่ายผลตอบแทน
นอกจากการรู้ระดับความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้ และรูปแบบของผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนแล้ว การจัดสรรเงินไว้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นก่อนลงทุนต้องอย่าลืมกันเงินไว้เพื่อเป็นสภาพคล่องสำรองค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนด้วย

คุณรับความเสี่ยงได้แค่ไหน..
เคยสงสัยไหมว่า พอลงทุนไปแล้ว เกิดขาดทุน คุณรู้สึกจะเป็นลม ปริวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา หรือในทางกลับกัน พอเห็นเพื่อนลงทุนได้กำไรเยอะๆ ก็รู้สึกว่า ที่เราลงทุนไปน่าจะกล้าๆกว่านี้หน่อย นั่นแสดงว่า เงินลงทุนของคุณยังอาจอยู่ไม่ถูกที่ถูกทาง หรือลงทุนไปไม่หมาะกับระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้
สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ออกหลักเกณฑ์กำหนดให้ก่อนการลงทุนในตราสารทางการเงิน ผู้ลงทุนต้องทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อน เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบว่า ตนเองรับความเสี่ยงได้เท่าไร บางท่านอาจคิดว่าตนเองรับความเสี่ยงได้สูง แต่จริงๆ แล้วท่านอาจรับความเสี่ยงได้น้อยก็ได้ เพราะแบบประเมินความเสี่ยงจะประเมินจากปัจจัยด้านระยะเวลาลงทุน อายุของผู้ลงทุน วัตถุประสงค์การลงทุน ประสบการณ์การลงทุน ข้อจำกัด และภาระทางการเงิน ประกอบกัน
หลักเกณฑ์นี้ใช้บังคับกับการลงทุนในกองทุนรวมด้วย ดังนั้น  หากท่านคิดลงทุนในกองทุนรวม ท่านก็จะต้องทำแบบประเมินความเสี่ยงในการลงทุน (Customer Risk Profile) ก่อนลงทุนด้วยเช่นกันค่ะ เมื่อประมวลผลแล้ว นักลงทุนจะถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย
-           นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ หากท่านอยู่ในกลุ่มนี้แสดงว่า เหมาะลงทุนในกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงเท่ากับ 1 หรือสามารถลงทุนเฉพาะกองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนเฉพาะในประเทศเท่านั้น
-           นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ เหมาะกับการลงทุนในกองทุนระดับความเสี่ยงตั้งแต่ 1-4  หรือสามารถลงทุนเพิ่มได้อีกในกองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมพันธบัตร และกองทุนรวมตลาดเงิน
-           นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง เหมาะกับการลงทุนในกองทุนระดับความเสี่ยงตั้งแต่ 1-5 หรือสามารถลงทุนเพิ่มได้อีกในกองทุนรวมผสม
-           นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงเหมาะกับการลงทุนในกองทุนระดับความเสี่ยงตั้งแต่ 1-7 หรือสามารถลงทุนเพิ่มได้อีกในกองทุนรวมตราสารทุน
-            นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก เหมาะกับการลงทุนในกองทุนระดับความเสี่ยงตั้งแต่ 1-8 หรือสามารถลงทุนเพิ่มได้อีกในกองทุนรวมที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก
การที่คุณทราบว่าตนเองเป็นนักลงทุนกลุ่มไหนจะช่วยให้คุณรู้จักตนเองว่า เหมาะที่จะลงทุนในกองทุนรวมประเภทใด ที่ตรงกับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้มากที่สุด หลังจากทำแบบประเมินแล้ว ผลลัพธ์จะถูกเก็บไว้สองปี แต่ถ้าอยากลองทำใหม่ ก็สามารถทำได้ค่ะ และผลลัพธ์ที่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ห้ามการลงทุนเลย คุณยังสามารถลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ ได้เหมือนเดิม เพียงแต่ถ้าต้องการลงทุนในกองทุนที่เสี่ยงกว่าระดับที่คุณรับได้ ต้องมีการลงนามรับทราบในเรื่องความเสี่ยงเพิ่มเติมค่ะ

ทำไมควรลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้??
           ปัจจุบันนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่เสนอขายผ่านสถาบันการเงิน ต้องประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงด้วยการทำแบบสอบถามเพื่อประเมินระดับความเสี่ยง (Customer Risk Profile) ก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มต้นก่อนการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยในประเทศไทยนั้นได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ขายต้องจัดให้ผู้ลงทุนทำแบบประเมินความเสี่ยงเช่นเดียวกันกับในต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ลงทุนที่มีการลงทุนตามกระแสที่ฮิต คิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก เช่น ฮิตน้ำมัน ทองคำ ก็ตามเข้าไปซื้อโดยที่ไม่รู้ พอถึงเวลาที่ผลตอบแทนที่ได้รับไม่เป็นไปตามที่คิด ก็อาจทำให้เงินที่เหลือใช้หมดไป 
ทำไมต้องทำแบบประเมิน คำตอบก็คือ การลงทุนมีความเสี่ยง หากผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนโดยไม่รู้ว่าหลักทรัพย์ที่เลือกเหมาะสมหรือไม่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจรับกับสภาวะขาดทุนไม่ได้ หรือมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการลงทุนในอนาคต เช่น รับความเสี่ยงได้ต่ำแต่นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเจอผลขาดทุน หรือรับความเสี่ยงได้สูง แต่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำก็ทำให้เงินเก็บไม่งอกเงย การประเมินระดับความเสี่ยงก่อนเริ่มต้นลงทุนจึงช่วยทำให้ผู้ลงทุนรู้ว่า การลงทุนแบบใดเหมาะสมกับตนเอง อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ลงทุนได้ทำการประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่าตนเองรับความเสี่ยงได้อยู่ในระดับต่ำ แต่ต้องการลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงก็ยังสามารถลงทุนได้โดยจะต้องลงนามเพื่อรับทราบความเสี่ยงเพิ่มเติม
นอกจากการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงจะช่วยในการเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับตัวผู้ลงทุนแล้ว ยังเป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัย หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้ลงทุนจะสามารถลงทุนได้ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น ซึ่งถ้าผู้ลงทุนสนใจลงทุนก็ต้องศึกษาถึงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ก่อนตัดสินใจลงทุนมากขึ้น
การที่ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน ทำให้เกิดการเรียนรู้ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การเข้าใจในสินค้าที่จะลงทุนเป็นเพียงการ รู้เขา เท่านั้น หรือเพียงรู้จักสินค้าทางการเงินของผู้ออกผลิตภัณฑ์ การที่ผู้ลงทุนมีการทำแบบประเมินความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน จะทำให้ผู้ลงทุนได้ รู้เรา คือรู้จักตนเองว่าควรลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทใด ซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาการลงทุนที่ผิดพลาด หรือลงทุนในสิ่งที่ตนไม่รู้ว่าเหมาะสมหรือไม่

เลือกลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยง..
          หลังจากที่ รู้เรา แล้วว่า ตัวเราเองรับความเสี่ยงได้ในระดับใด ด้วยการทำแบบประเมินระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่เหมาะสม (Customer Risk Profile) ที่ใช้ปัจจัยของผู้ลงทุนหลายๆ ด้าน เช่น อายุ ประสบการณ์การลงทุน การยอมรับกับการขาดทุน หรือมูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับความมั่งคั่ง เป็นต้น การเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น เปรียบเสมือน อยู่กับสิ่งที่ใช่ เลือกในสิ่งที่ชอบ ให้กับตัวเราเองซึ่งนอกจากจะช่วยลดความกังวลใจ เมื่อประสบกับความผันผวนในการลงทุนที่มีโอกาสทั้งกำไรและขาดทุนแล้ว ยังช่วยในการตัดสินใจต่อไปได้อีกว่า มีผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทไหนบ้างที่เหมาะกับตัวเรา
ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรลงทุนในผลิตภัณฑ์ประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความมั่นคงสูง ได้แก่ เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากเป็นทางเลือกที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองเงินต้นในระดับสูง ไม่ต้องการให้ปัจจัยใดๆ มากระทบกับมูลค่าการลงทุนมากนัก อีกทั้งยอมรับกับผลตอบแทนที่ต่ำได้ แม้ผลตอบแทนในบางช่วงที่ได้รับอาจไม่ชนะเงินเฟ้อก็ตาม 
ผู้ที่รับความเสี่ยงในระดับปานกลาง จะสามารถรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากกรณีข้างต้น จากเดิมที่เคยลงทุนในตราสารหนี้มาเป็นการลงทุนที่มีตราสารทุนเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น  การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางจึงเป็นได้ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนที่มีส่วนผสมในสัดส่วนหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางต้องการความเสี่ยงระดับปานกลางค่อนข้างต่ำที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนน้อย หรือความเสี่ยงระดับปานกลางค่อนข้างสูงที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนเพิ่มมากขึ้น
ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงนั้นมักจะยินดีที่จะรับความเสี่ยงเพื่อผลตอบแทนคาดหวังที่สูงขึ้น แม้มีโอกาสที่จะประสบกับภาวะขาดทุนก็ตาม เนื่องจากมีทั้งความพร้อมและความเต็มใจในโอกาสที่จะเกิดขึ้นอันส่งผลต่อมูลค่าการลงทุน ตราสารประเภทที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ตราสารทุน (หุ้นในตลาดหลักทรัพย์) สินค้าโภคภัณฑ์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่มีการเปลี่ยนแปลงของราคาอ้างอิงกับอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลกเป็นหลัก
    การเลือกลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยง นอกจากจะช่วยลดความผิดพลาดในการเลือกประเภทสินทรัพย์ลงทุนตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว ยังช่วยให้การลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะเราได้เลือกลงทุนอย่างรู้ทิศทาง อยู่กับสิ่งที่ใช่ เลือกในสิ่งที่ชอบ  กัน

จัดสรรเงินอย่างไรให้เหมาะกับคุณ..
          การจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนนั้นแตกต่างจากการจัดสรรเงินเพื่อสำรองใช้จ่าย เนื่องจากการจัดสรรเงินลงทุนเป็นการนำเงินสดส่วนเกินที่มีอยู่หลังจากที่ได้สำรองค่าใช้จ่ายส่วนตัวไว้แล้ว ไปลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามก่อนที่คุณจะจัดสรรเงินลงทุนนั้นควรหาคำตอบให้ได้เสียก่อนว่า เป้าหมายการลงทุนของคุณคืออะไร คุณสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับใด และมีระยะเวลาที่ต้องการลงทุนนานแค่ไหน เนื่องจากเป้าหมาย ระยะเวลา และความเสี่ยงมีความสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น คุณมีเป้าหมายแรกที่ต้องการมีเงินไว้สำหรับเกษียณอายุ ในอีก 15 ปีข้างหน้า และรับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง การจัดสรรเงินลงทุนที่ให้น้ำหนักกับตราสารทุนจะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากตราสารทุนให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณ 12-18% ต่อปี สำหรับการลงทุนระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อคุณใกล้ที่จะบรรลุเป้าหมายการลงทุนแล้ว คุณอาจพิจารณาลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนลงก็เป็นได้ เห็นได้ว่าการจัดสรรเงินที่ดีจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนก่อนเสมอ เพราะจะช่วยให้คุณกำหนดลักษณะการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง
กรณีที่เป้าหมายการลงทุนของคุณมีความสำคัญมาก และมีระยะเวลาลงทุนที่ไม่นานนัก เช่น มีเป้าหมายสำหรับค่าเทอมบุตรในอีก 3 -6 เดือนข้างหน้า การแบ่งเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีระยะเวลา 3 6 เดือน แทนการนำเงินไปเก็บไว้ในตราสารทุนที่มีความเสี่ยงสูงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะการลงทุนในตราสารทุนด้วยระยะเวลาอันสั้น หากเกิดความผิดพลาดอาจทำให้คุณตั้งต้นใหม่ไม่ทัน
สำหรับผู้ที่ประสงค์สร้างความมั่งคั่งทางการเงินผ่านการลงทุน การจัดสรรเงินไปเก็บไว้ในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำเพียงอย่างเดียว เช่น ลงทุนในตั๋วแลกเงิน พันธบัตรระยะสั้น หรือกองทุนรวมตลาดเงิน จะไม่ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จจากการลงทุนเท่าที่ควร เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับไม่เพียงพอที่จะชดเชยเงินเฟ้อ ดังนั้น สำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้ต่ำ และได้กันเงินสำรองต่อการดำรงชีพแล้ว แนะนำให้จัดสรรเงินลงทุนบางส่วนในตราสารทุนบ้าง เช่น ลงทุนในตราสารทุนประมาณ 10-20% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน พันธบัตร หรือหุ้นกู้ เป็นต้น นอกจากนี้การลงทุนระยะยาวในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง นอกจากจะช่วยให้คุณได้รับกำไรที่เป็นส่วนต่างราคา (Capital Gain) ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู อีกทั้งยังสามารถสร้างดอกผลระหว่างทางด้วยการปล่อยเช่าได้อีกด้วย
แหล่งความรู้เพื่อการลงทุนที่น่าสนใจ..
     สำหรับผู้ที่เริ่มต้นลงทุนในครั้งแรก อาจไม่ทราบว่าควรเริ่มศึกษาข้อมูลการลงทุนจากที่ใด เนื่องจากมีข้อมูลให้ศึกษาค้นคว้าอยู่มากมาย ทั้งในแง่ของข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน รวมถึงขั้นตอนต่างๆสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุน สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มหัดลงทุนแล้ว การมีจุดเริ่มต้นดีๆ ในการศึกษาหาข้อมูลจะช่วยให้คุณมีความมั่นใจในการเริ่มต้นลงทุนได้ โดยศึกษาได้จากข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น
                TSI (Thailand Securities Institute) สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดเงิน และตลาดทุน ที่ได้รวมรวมความรู้เพื่อการลงทุนไว้ที่ www.tsi-thailand.org โดยมีหัวข้อน่าสนใจได้แก่ เส้นทางลงทุน เส้นทางวิชาชีพ หลักสูตร บทความน่าสนใจ รวมถึงการจัดอบรม และสัมมนาทางการเงินที่สถาบันจัดทำขึ้น
                Settrade นักลงทุนสามารถติดตามราคาหลักทรัพย์ได้ที่ www.settrade.com ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมราคาสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่หุ้น ทองคำ น้ำมัน หน่วยลงทุน อัตราแลกเปลี่ยน สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฯลฯ
                SET (Stock Exchange of Thailand) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากคุณต้องการทราบข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีตลาด สถิติ ราคาหลักทรัพย์ วิธีการ และระบบที่ใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์ สามารถดูได้จากเวปไซด์ www.set.or.th ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล
                SEC (Securities Exchange Commission) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีเวปไซด์ www.sec.or.th ที่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ หลักการ ข้อปฏิบัติ รวมถึงรายชื่อบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจตามพรบ.หลักทรัพย์ฯ รายชื่อผู้ติดต่อผู้ลงทุน
                AIMC (Assosiation of Investment Management Company) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน รวบรวมข้อมูลรายอุตสาหกรรมของกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล ไว้ที่เวปไซด์ www.aimc.or.th
               Thaimutualfund.com กองทุนรวมซึ่งได้รวบรวมเรื่องน่ารู้ และเกร็ดทั่วไป ข้อมูลโดยสังเขปของกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ ไว้ที่ www.thaimutualfund.com
หลังจากที่ท่านเสาะหาแหล่งข้อมูลแล้ว หากมีปัญหาทางการเงินสามารถปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ผ่านที่ปรึกษาของท่าน ที่ได้แนะนำไว้เมื่อวาน ที่จะตอบปัญหาด้านการออมและการลงทุน ภาษีเงินได้ และสินเชื่อ

  วันนี้ก็ขอจบแค่นี้แล้วกันเนอะ!! ลายตากันรึป่าวค่ะ?? ถึงเนื้อหาจะเยอะนิดนึง แต่ว่าสาระเต็มเปี่ยม ^0^*  เดี๋ยวต้องรีบไปแล้ว กลัวโดนพี่ๆดุที่แอบอู้มาอัฟบล็อก ((แต่คงไม่โดนดุหรอกมั้ง เพราะพี่ๆฟินันเซีย ไซรัส น่าร๊ากและใจดีทุกๆคนเลย ..พูดจริงๆนะค่ะ))  ว่าแล้วก็ไปดีกว่า.. บ๊ะบ๊ายค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น