วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

เคล็ดลับที่โรงเรียนไม่สอน..ตอน "กราฟ กราฟ กราฟ" ((ภาค 3))

 
(^________________________________________________________^)*

สวัสดีค่ะ  เพื่อนๆที่น่ารักทุกท่าน!! วันนี้ Sailorty ก็จะมาต่อ ..เคล็ดลับที่โรงเรียนไม่สอน..ตอน "กราฟ กราฟ กราฟ" ตามสัญญา และนี้ก็ถือว่าเป็น ภาค 3 แล้ว ^^* ว่าแต่มีใครยังไม่ได้เข้าไปอ่าน ภาค 1 และ ภาค 2 บ้างค่ะ?? ถ้าใครตอบว่ายัง ..งั้นก็อย่าลืมเข้าไปอ่านกันนะค่ะ (^0^*)

 

ว่าแล้วก็ขอเกริ่นนิดนึง!! ก่อนที่เราจะเข้าสู่เนื้อหาสาระ ในภาค 3 นี้ จะเป็นบทความที่เกี่ยวกับ แผนภูมิแบบแท่ง  BAR  CHART  ที่ใช้ในการอธิบายทิศทางและแนวโน้มของตลาด ซึ่งเป็นบทความต่อเนื่องจากภาค 1 และ ภาค 2 ที่อธิบายเกี่ยวกับวิธีการใช้กราฟและเครื่องมือต่างๆ 

 

ดังนั้น วันนี้ Sailorty จึงขออธิบายรูปแบบของราคา (PRICE PATTERN) จากแผนภูมิแท่ง และสัญญาณเตือนการเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มของราคาที่สำคัญ ^^* เพื่อเป็นการเตือนความรู้ของตนเองและแบ่งปันความรู้แก่เพื่อนๆที่น่ารักทุกท่าน ((แต่ถ้าใครทราบอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นการทบทวนร่วมกันนะค่ะ)) แล้วก็ต้องขอบคุณความรู้ดีดีจาก Taladhoon ที่ทำให้กราฟภาค 3 ในวันนี้ ^^*

 

เสียเวลามาพอสมควรแล้ว มาเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ..

เคล็ดลับที่โรงเรียนไม่สอน..ตอน "กราฟ กราฟ กราฟ" ((ภาค 3))

 

แผนภูมิแบบแท่ง  BAR  CHART
          เป็นตัวแสดงการเคลื่อนไหวของระดับราคาของหุ้น ที่มีลักษณะเป็นแท่งในแนวดิ่ง ที่ประกอบไปด้วยราคาสูงสุด ต่ำสุด ราคาเปิด และราคาปิด แผนภูมิแบบแท่งสามารถให้เห็นถึงความต้องการซื้อ(DEMAND) และความต้องการขาย (SUPPLY) ที่เกิดขึ้นจากการสังเกตที่ราคา ถ้าปิดค่อนข้างไปทางสูงของแท่งราคา แสดงว่าวันนั้นมีความต้องการซื้อมาก แต่ถ้าราคาปิดค่อนข้างไปทางต่ำของแท่งราคา แสดงว่าวันนั้นมีความต้องการขายมาก
            เมื่อเราสังเกตราคาจากแผนภูมิแบบแท่งในอดีต ทำให้เราสามารถคาดคะเนได้ว่า ราคาหุ้นตัวนี้จะมีแนวโน้มไปทางไหน โดยการวิเคราะห์รูปแบบของราคา (PRICE PATTERN) จากแผนภูมิแท่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
  • รูปแบบของราคาที่บอกถึงการเปลี่ยนทิศทางใหม่  (REVERSAL TREND)
  • รูปแบบของราคาที่บอกถึงทิศทางต่อเนื่อง  (CONTINUATION TREND)
  • รูปแบบของราคาที่จะไปได้ทางใดทางหนึ่ง  (SIDEWAYS PATTERN)

*……………………………………………………………………………………………………….*

*…………………………………………………………………………………………*

 

รูปแบบของราคาที่บอกถึงการเปลี่ยนทิศทางใหม่
(REVERSAL TREND)

                เมื่อมีรูปแบบนี้เกิดขึ้น แผนภูมิแบบแท่งจะบอกถึงสัญญาณเตือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มของราคา โดยมีรูปแบบที่สำคัญ ๆ อยู่ 7 แบบ ดังนี้ 

 1. รูปแบบตัววี  (V FORMATION)
                เกิดจากการเคลื่อนไหวของราคาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในลักษณะขึ้นหรือลงเป็นเส้นชัน โดยมีรูปคล้ายกับตัว  V  ในหุ้นขาลง  (V-Bottom)  โดยจะบอกถึงการเปลี่ยนแนวโน้มจากลงเป็นขึ้น  และตัว  V  กลับหัวในหุ้นขาขึ้น (V-Top) โดยจะบอกถึงการเปลี่ยนแนวโน้มของหุ้นจากขึ้นเป็นลง อย่างไรก็ดี รูปแบบตัว V นี้ควรจะเกิดพร้อมกับรูปแบบ KEY REVERSAL DAY กล่าวคือ สำหรับหุ้นขาลง ในวันที่ราคาหุ้นลงต่ำสุด ราคาปิดจะสูงกว่าราคาสูงสุดของวันก่อนหน้า ในทางตรงกันข้าม สำหรับหุ้นขาขึ้นในวันที่ราคาหุ้นขึ้นสูงสุดราคาปิดจะต่ำกว่าราคาต่ำสุดของวันก่อนหน้า โดยทั้งสองกรณี จะมีปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา
            หรือรูปแบบตัว V นี้ควรจะเกิดพร้อมกับรูปแบบเกาะ  (ISLAND) ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวในหัวเรื่องของ รูปแบบเกาะ  (ISLAND)



2. รูปแบบหัวกับไหล่  (HEAD & SHOULDERS)
แบ่งเป็น

            หัวกับไหล่ที่จุดยอด  (HEAD & SHOULDERS TOP)
            บอกถึงการเปลี่ยนทิศทางของราคาหุ้นจากแนวโน้มขึ้นเป็นลง ประกอบด้วย 3 ยอด ยอดที่สูงที่สุดจะเรียกว่า หัว (HEAD) ส่วนยอดที่ต่ำลงมาจะเรียกว่า ไหล่หรือบ่า (SHOULDERS) โดยปริมาณการซื้อขายในแต่ละยอดจะลดลงตามลำดับ และมีเส้นเชื่อมตรงฐานเรียกว่า เส้นคอ (NECKLINE) และเส้นนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวนอนเสมอไป แต่ไม่ควรจะเป็นเส้นที่ชันมากเกินไปเช่นกัน เมื่อราคาหุ้นตกทะลุผ่านเส้นคอ (NECKLINE) พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าราคาจะมีแนวโน้มไปในทางลง จึงควรขาย ณ จุดนี้



            หัวกับไหล่ที่จุดต่ำ  (HEAD & SHOULDER BOTTOMS)
                มีลักษณะเหมือน  HEAD & SHOULDER TOPS  แต่กลับหัว และเมื่อราคาหุ้นทะลุผ่านเส้นคอ (NECKLINE) พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้น แสดงถึงแนวโน้มของราคาหุ้นกำลังจะขึ้น จึงควรซื้อ ณ จุดนี้



            หัวกับไหล่แบบซ้ำซ้อน  (COMPLEX HEAD & SHOULDERS)
                เป็นรูปแบบที่ซับซ้อนซึ่งอาจจะมียอดอยู่ที่ไหล่ 2 ยอด ในแต่ละข้างหรืออาจจะมีหัวคล้ายกัน 2 หัว การดูแนวโน้มของราคาจะเหมือนกับ  HEAD & SHOULDERS ทั้ง 2 แบบข้างต้น คือ ถ้าเกิดตอนขาขึ้นและเป็นหัวตั้งให้ขาย เมื่อราคาทะลุเส้นคอ (NECKLINE) ลงมา ในทางตรงกันข้ามถ้าเกิดตอนขาลงและเป็นหัวกลับ ให้ซื้อเมื่อราคาทะลุเส้นคอ (NECKLINE) ขึ้นไป


ข้อสังเกต หุ้นที่ทะลุผ่านเส้นคอ อาจจะทะลุขึ้นหรือลงไปได้ระยะทางอย่างน้อยเท่ากับระยะห่างจากส่วนหัวถึงเส้นคอ

3. รูปแบบ สองหัวหรือสามหัวที่จุดต่ำ และสองหัวหรือสามหัวที่จุดยอด  
(DOUBLE/TRIPLE BOTTOMS & DOUBLE/TRIPLE TOPS)

            กรณีสองหัว  (DOUBLE TOPS)
                รูปแบบของราคาจะมีลักษณะคล้ายตัว M โดยจะมียอด 2 ยอดปริมาณการซื้อขายหุ้นในยอดแรก จะมากกว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในยอดที่ 2 หลังจากนั้นราคาจะลดลงและทะลุผ่านเส้นคอลงไป ซึ่งถือว่าเป็นจุดให้ขาย โดยระยะทางที่จะลงไปได้นั้นอาจจะลงไปได้อย่างน้อยเท่ากับระยะห่างระหว่างยอดถึงเส้นคอ


            กรณีสามหัวที่จุดยอด  (TRIPLE TOPS)
                รูปแบบนี้จะมียอดอยู่ 3 ยอด โดยปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลงในแต่ละยอดตามลำดับ โดยยอดแรกจะมีปริมาณการซื้อขายหุ้นมากที่สุด และในยอดที่ 3 ขณะที่ราคากำลังลดลงและตัดเส้นคอ ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงสัญญาณเปลี่ยนแนวโน้มเป็นลง และควรขาย ณ จุดที่ราคาตัดเส้นคอลงมา



            กรณีสองหัวที่จุดต่ำ  (DOUBLE BOTTOMS)
                รูปแบบคล้ายตัว W มีลักษณะในทางกลับกันกับกรณีสองหัวที่จุดยอด (DOUBLE TOPS) โดยกรณีสองหัวที่จุดต่ำ (DOUBLE BOTTOMS) จะบอกถึงตลาดกำลังจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขึ้น จึงควรซื้อ ณ จุดที่ราคาตัดเส้นคอ (NECKLINE) ขึ้นมา



            กรณีสามหัวที่จุดต่ำ  (TRIPLE BOTTOMS)
                มีลักษณะในทางกลับกันกับกรณีสามหัวที่จุดยอด (TRIPLE TOPS) โดยให้ซื้อเมื่อราคาตัดเส้นคอ (NECKLINE) ขึ้นมา


4. รูปแบบจาน  (THE ROUNDING TURN)
ราคาหุ้นจะก่อตัวคล้ายรูปจานโดยแบ่งเป็น

            รูปแบบจานหงาย  (ROUNDING BOTTOM)
            มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลง แล้วจะเพิ่มขึ้นตามราคาหุ้นที่ขึ้น บอกถึงแนวโน้มที่จะขึ้น



            รูปแบบจานคว่ำ  (ROUNDING Top)
            มีลักษณะคล้ายจานคว่ำ บอกให้ทราบถึงว่าราคามีแนวโน้มจะลดลง โดยมีลักษณะที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะสูงขึ้นเมื่อราคาลดต่ำลง



5. รูปแบบสามเหลี่ยมแบบปลายกว้าง  (BROADENING TRIANGLE)
            มีลักษณะประกอบด้วยยอดสูง 3 ยอด โดยแต่ละยอดจะสูงกว่ายอดเดิม ในขณะที่เส้นเชื่อมของฐาน 2 ฐาน มีลักษณะเอียงลง โดยรูปแบบของราคามีการเริ่มต้นเป็นไปอย่างแคบ ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายตัวออกไป รูปแบบนี้จึงบอกถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นจะรุนแรงมาก ถ้าทะลุออกนอกเส้นสามเหลี่ยม ทางด้านบนหรือด้านล่าง แต่ส่วนมากจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางลงมากกว่า


6. รูปแบบช่องว่าง  (GAP)
                เกิดขึ้นเมื่อมีการซื้อหรือขายหุ้นโดยเกิดช่องว่างระหว่างราคาในลักษณะที่มีการกระโดดขึ้นหรือลง โดยในช่วงแนวโน้มขาขึ้น (UPTREND) ช่องว่างจะเกิดขึ้นถ้าราคาต่ำสุดของวันปัจจุบันสูงกว่าราคาสูงสุด ของ เมื่อวานในทางตรงกันข้าม ช่วงแนวโน้มขาลง (DOWNTREND) จะเกิดเมื่อราคาสูงสุดของวันปัจจุบันต่ำกว่าราคาต่ำสุดของวันก่อนหน้า โดยรูปแบ่งช่องว่าง แบ่งเป็น

            COMMON GAP
            เกิดขึ้นในหุ้นที่ซื้อขายกันน้อยหรือขาดสภาพคล่อง ช่องว่างชนิดนี้ไม่มีความสำคัญ เพราะไม่สามารถบอกทิศทางของราคาหุ้น

            BREAKAWAY GAP
            เกิดขึ้นเมื่อราคาหุ้นทะลุออกจากรูปแบบที่ก่อตัวมาครั้งก่อน เช่น การทะลุผ่านเส้นคอของรูปแบบ HEAD & SHOULDERS โดยรูปแบบ BREAKAWAY GAP นี้เป็นการเริ่มต้นวิ่งของแนวโน้มใหม่ และควรจะเกิดพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูง

            CONTINUATION/RUNAWAY GAP
            เมื่อราคาวิ่งมาระดับหนึ่ง (โดยส่วนใหญ่จะประมาณครึ่งทางของแนวโน้มทั้งหมด) แล้วเกิดการกระโดดห่างออกจนเป็นช่องว่างจากราคาเดิม โดยมีปริมารการซื้อขายปานกลาง จะเรียกว่า CONTINUATION GAP ดังนั้น เมื่อเห็น GAP ชนิดนี้เกิดขึ้น เราอาจสันนิษฐานได้ว่าหลังจากนั้นราคาจะสามารถวิ่งต่อไปได้อีกเท่ากับระยะทางที่วิ่งมาแล้ว

            EXHAUSTION GAP
            เป็นการกระโดยขึ้นหรือลงของราคาครั้งสุดท้าย หลังจากนั้น ราคาหุ้นเริ่มปรับตัวลงหรือขึ้นจนมีระดับต่ำกว่าหรือสูงกว่า GAP ครั้งก่อน (เป็นการปิด GAP) โดยปริมาณการซื้อขายหุ้นจะมีเข้ามาสูงมาก และอาจเกิดรูปแบบคล้ายคลึงกับเกาะ (ISLAND) โดยการปิด GAP นี้นั้นจะเกิด GAP ใหม่ขึ้นมา หลังจากนั้นราคาจะเปลี่ยนแนวโน้มไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว ซึ่ง GAP ชนิดนี้หากเกิดภายหลังจาก BREAKAWAY GAP และ CONTINUTION GAP จะช่วยให้การวิเคราะห์น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

            หมายเหตุ การจ่ายปันผล (XD) และการให้สิทธิผู้ถือหุ้นในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (XR) ที่อาจก่อให้เกิด GAP จะไม่นำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์แนวโน้ม



7. รูปแบบเกาะ  (ISLAND)
                อาจเกิดขึ้นตรงจุดสูงสุดของรูปตัว V กลับหัว (ISLAND TOP) โดยมีลักษณะที่ราคาหุ้นจะขึ้นติดต่อกันเป็นระยะ จนถึงจุดสูงสุด หลังจากนั้นราคาก็จะตกลงอย่างรุนแรง จนมีลักษณะแบบ BREAKAWAY GAP ซึ่งรูปแบบนี้ปกติจะเกิดขึ้นต่อจาก EXHAUSTION GAP
            ในทางกลับกันอาจเกิดขึ้นตรงจุดต่ำสุดของรูปตัว V (ISLAND BOTTOMS) โดยมีลักษณะที่ราคาหุ้นจะลงติดต่อกันเป็นระยะ จนถึงจุดต่ำสุด หลังจากนั้นราคาจะขึ้นอย่างรุนแรง




 *…………………………………………………………………………………………………….*

*…………………………………………………………………………………………*

รูปแบบของราคาที่บอกถึงทิศทางต่อเนื่อง

(CONTINUATION TREND)

                เป็นการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นมากอ่นหน้านี้ มี 2 รูปแบบ คือ FLAG และ PENNANT

รูปแบบธง  (FLAG)
            แบ่งเป็น 2 แบบ คือ  BULLISH FLAG และ BEARISH FLAG


            รูปแบบธงของแนวโน้มขึ้น  (BULLISH FLAG)
            เกิดขึ้นเมื่อราคาวิ่งขึ้นมาในลักษณะที่ชันมากแล้วปรับตัวเคลื่อนไหวในช่วงแคบ โดยที่การขึ้นครั้งที่ 2 จะต่ำกว่ายอดแรก และฐานที่ 2 จะต่ำกว่าฐานแรก โดยในช่วงนี้ปริมาณการซื้อขายจะลดต่ำลงด้วย และเมื่อใดการขึ้นสามารถทะลุผ่านจุดสูงในยอดเก่าได้ พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงเด่นขึ้น จะบอกแนวโน้มว่าหุ้นจะขึ้นต่อ



            รูปแบบธงของแนวโน้มลง  (BEARISH FLAG)
            เกิดขึ้นเมื่อราคาวิ่งลงมาในลักษณะที่ชันมาก แล้วปรับตัวเคลื่อนไหวในลักษณะตรงข้ามกับรูปแบบธงของแนวโน้มขึ้น และเมื่อราคาทะลุผ่านฐานต่ำเก่าลงไป จะบอกแนวโน้มว่าหุ้นจะลงต่อ



            รูปแบบธงปลายแหลม  (PENNANT)
            ช่วงแรกของการเคลื่อนไหวเป็นแบบช่วงกว้าง ๆ หลังจากนั้นก็จะแคบลงจนมีลักษณะคล้ายปลายแหลม จะเกิดการทะลุผ่านปลายแหลมของเส้นธงด้านบน หรือด้านล่าง แล้วดำเนินตามแนวโน้มเก่าที่เกิดขึ้นมาก่อนการสร้างรูปแบบธงปลายแหลมนี้


                หมายเหตุ!!
·         ในการวิ่งขึ้นหรือลงนี้ อาจจะไปได้ไกลเท่ากับระยะที่วิ่งขึ้นหรือลงมาครั้งแรก
·         ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดน้อยลงในระหว่างการก่อตัว และเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการทะลุผ่าน
·         การก่อตัวไม่ควรเกิน 3 สัปดาห์ ถ้านานกว่านั้น ผู้ลงทุนควรใช้ความระมัดระวัง
·         ทั้ง FLAG AND PENNANT ใช้กับการวิเคราะห์ในแนวโน้มขึ้นมากกว่าในแนวโน้มลง

*…………………………………………………………………………………………………….*

*…………………………………………………………………………………………*


รูปแบบของราคาที่จะไปได้ทางใดทางหนึ่ง
(SIDEWAYS PATTERN)

มี 2 ลักษณะคือ  RECTANGLE  หรือ  TRIANGLE
 
1. รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  (RECTANGLE)
           เกิดจากการเคลื่อนไหวของราคาไปทางด้านข้าง (SIDEWAYS) ทำให้เกิดเส้นหนุน (SUPPORT LINE) และเส้นต้าน (RESISTANCE LINE) ในลักษณะเส้นขนานในแนวนอน ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลงตามลำดับ และในช่วงต่อมาราคาสามารถทะลุผ่านเส้นขนานทางด้านบนหรือด้านล่างด้วยปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นไปตามแนวโน้มที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้



2. รูปสามเหลี่ยม  (TRIANGLE)

            SYMMETRICAL TRIANGLE
            เกิดจากราคาหุ้นเคลื่อนไหวแบบ SIDEWAYS แล้วแคบลง เมื่อลากเส้นเชื่อมจุดยอดอย่างน้อย 2 จุด และเชื่อมจุดฐานอย่างน้อย 2 จุด จะมาพบกันเป็นมุมแหลม จากนั้นโดยส่วนใหญ่ราคาจะทะลุผ่านขึ้น หรือลงจากยอดปลายแหลมตามแนวโน้มที่มาก่อนหน้านี้ โดยที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลงขณะที่มีการก่อตัวเป็นรูปสามเหลี่ยม และจะมากขึ้นเมื่อทะลุผ่านเส้นปลายแหลมไปได้



                THE RIGHT-ANGLE TRIANGLE
            เป็นรูปแบบที่น่าเชื่อถือกว่า  SYMMETRICAL TRIANGLE  มีสองรูปแบบ คือ

        ASCENDING TRIANGLE

            เป็นรูปสามเหลี่ยมที่สร้างจากเส้นที่ลากต่อกันระหว่างจุดยอดกับจุดยอดในแนวราบ และเส้นที่ลากระหว่างฐานกับฐานจะเอียงขึ้น เมื่อราคาหุ้นวิ่งทะลุผ่านเส้นแนวต้านทางด้านบนขึ้นได้ จะเป็นสัญญาณให้ซื้อ แต่ถ้าทะลุเส้นแนวรับลงมาข้างล่าง จะไม่มีความหมายสำหรับการวิเคราะห์



                DESCENDING Triangle
            เป็นรูปสามเหลี่ยมที่สร้างจากเส้นที่ลากต่อกันระหว่างจุดยอดกับจุดยอด ในลักษณะเอียงลง  และเส้นลากระหว่างฐานกับฐาน จะเป็นไปในแนวราบ เมื่อราคาหุ้นวิ่งทะลุผ่านเส้นแนวรับลงมาทางด้านล่างได้ จะเป็นสัญญาณให้ขาย แต่ถ้าทะลุเส้นแนวต้านขึ้นไป จะไม่มีความหมายสำหรับการวิเคราะห์


*………………………………..……((จบภาค 3 ))………………………………………….*

*…………………………………………………………………………………………*


เป็นไงบ้างค่ะเพื่อนๆ พอจะเข้าใจกันรึเปล่าเอ่ย??
Sailorty หวังว่าเพื่อนๆที่ติดตามอ่าน คงจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยจาก..
เคล็ดลับที่โรงเรียนไม่สอน..ตอน "กราฟ กราฟ กราฟ" นะค่ะ ^^*

วันนี้ก็ขอลากันไปเพียงเท่านี้แล้วกันเนอะ!!
ขอให้ทุกๆวันเป็นวันที่ดีสำหรับ Sailorty และเพื่อนๆทุกท่าน





"อย่ากลัวที่จะก้าวไปช้าๆ จงกลัวที่จะอยู่นิ่งเฉย"
Do not be afraid of going slowly, be afraid only of standing still.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น